วิธีสอนแบบ CIPPA Model

            ครู Edozone (2560) ได้รวบรวมข้อมูลของวิธีสอนแบบ CIPPA Model ไว้ดังนี้
แนวคิด
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้โมเดลซิปปา เป็นแนวคิดของทิศนา แขมมณี ที่กล่าวว่า ซิปปา (CIPPA) เป็นหลักการซึ่งสามารถนำไปเป็นหลักในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้แก่ผู้เรียน การจัดกระบวนการเรียนการสอนตามหลัก “CIPPA”  สามารถใช้วิธีการและกระบวนการที่หลากหลาย อาจจัดเป็นแบบแผนได้หลายรูปแบบ CIPPA MODEL เป็นวิธีหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนศึกษาค้นคว้า  รวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง การมีส่วนร่วมในการสร้างคามรู้ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และการแลกเปลี่ยนความรู้ การได้เคลื่อนไหวทางกาย การเรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
การจัดการเรียนการสอนแบบ CIPPA MODEL มาจากแนวคิดหลัก 5 แนวคิด ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานในการจัดการศึกษา ได้แก่
1. แนวคิดการสร้างสรรค์ความรู้ (Contructivism)
2. แนวคิดเรื่องกระบวนการกลุ่มและการเรียนแบบร่วมมือ (Group Process and Cooperative Learning)
3. แนวคิดเกี่ยวกับความพร้อมในการเรียนรู้ (Learning Readiness)
4. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้กระบวนการ (Process Learning)
5. แนวคิดเกี่ยวกับการถ่ายโอนการเรียนรู้ (Transfer of Learning)

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบโมเดลซิปปา (CIPPA MODEL) ตามรูปแบบของ ทิศนา แขมมณี มีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดังนี้

ขั้นที่  1 การทบทวนความรู้เดิม
ขั้นนี้เป็นการดึงความรู้เดิมของผู้เรียนในเรื่องที่จะเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมของตน ซึ่งผู้สอนอาจใช้วิธีการต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น ผู้สอนอาจใช้การสนทนาซักถามให้ผู้เรียนเล่าประสบการณ์เดิม หรือให้ผู้เรียนแสดงโครงความรู้เดิม (Graphic Organizer) ของตน

ขั้นที่ 2 การแสวงหาความรู้ใหม่
ขั้นนี้เป็นการแสวงหาข้อมูลความรู้ใหม่ของผู้เรียนจากแหล่งข้อมูล หรือแหล่งความรู้ต่าง ๆ ซึ่งผู้สอนอาจจัดเตรียมมาให้ผู้เรียนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนไปแสวงหาก็ได้ในขั้นนี้ผู้สอนควรแนะนำแหล่งความรู้ต่าง ๆ  ให้แก่ผู้เรียนตลอดทั้งจัดเตรียมเอกสารสื่อต่าง ๆ

ขั้นที่ 3  การศึกษาทำความเข้าใจข้อมูล / ความรู้ใหม่ และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม    
ขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อมูล / ความรู้ที่หามาได้ ผู้เรียนสร้างความหมายของข้อมูล / ประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยใช้กระบวนต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น ใช้กระบวนการคิด กระบวนการกลุ่มในการอภิปราย และสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลนั้น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยงกับความรู้เดิม
       ในขั้นนี้ ผู้สอนควรใช้กระบวนการต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรม เช่น กระบวนการคิด กระบวนการกลุ่ม กระบวนการแสวงหาความรู้ กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการสร้างลักษณะนิสัย กระบวนการทักษะทางสังคม ฯลฯ เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ขึ้นมาด้วยตนเอง

ขั้นที่ 4 การแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม

ขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนอาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรวมทั้งขยายความรู้ความเข้าใจของตนให้กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้แบ่งปันความรู้ความเข้าใจของตนเองแก่ผู้อื่น และได้รับประโยชน์จากความรู้ ความเข้าใจของผู้อื่นไปพร้อม ๆ กัน

ขั้นที่ 5 การสรุปและจัดระเบียบความรู้

ขั้นนี้เป็นขั้นของการสรุปความรู้ที่ได้รับทั้งหมด ทั้งความรู้เดิมและความรู้ใหม่ และจัดสิ่งที่เรียนให้เป็นระบบระเบียบ เพื่อให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่าย ผู้สอนควรให้ผู้เรียนสรุปประเด็นสำคัญประกอบด้วยมโนทัศน์หลัก และมโนทัศน์ย่อยของความรู้ทั้งหมด แล้วนำมาเรียบเรียงให้ได้สาระสำคัญครบถ้วน ผู้สอนอาจให้ผู้เรียนจดเป็นโครงสร้างความรู้ จะช่วยให้จดจำข้อมูลได้ง่าย

ขั้นที่ 6 การปฏิบัติและ / หรือการแสดงผลงาน

ขั้นนี้จะช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงผลงานการสร้างความรู้ของตนให้ผู้อื่นรับรู้ เป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้ตอกย้ำหรือตรวจสอบความเข้าใจของตน และช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่หากต้องมีการปฏิบัติตามข้อมูลที่ได้ ขั้นนี้จะเป็นขั้นปฏิบัติ และมีการแสดงผลงานที่ได้ปฏิบัติด้วย ในขั้นนี้ผู้เรียนสามารถแสดงผลงานด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การจัดนิทรรศการ การอภิปราย  การแสดงบทบาทสมมติ เรียงความ วาดภาพ ฯลฯ และอาจจัดให้มีการประเมินผลงานโดยมีเกณฑ์ที่เหมาะสม

ขั้นที่ 7 การประยุกต์ใช้ความรู้

ขั้นนี้เป็นขั้นของการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการนำความรู้ความเข้าใจของตนไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่หลากหลาย เพิ่มความชำนาญ ความเข้าใจ ความสามารถในการแก้ปัญหาและความจำในเรื่องนั้น ๆ เป็นการให้โอกาสผู้เรียนใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ เป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

หลังจากประยุกต์ใช้ความรู้ อาจมีการนำเสนอผลงานจากการประยุกต์อีกครั้งก็ได้  หรืออาจไม่มีการนำเสนอผลงานในขั้นที่ 6 แต่นำความมารวม แสดงในตอนท้ายหลังขั้นการประยุกต์ใช้ก็ได้ เช่นกัน ขั้นที่ 1-6 เป็นกระบวนการของการสร้างความรู้ (Construction of Knowledge)

ขั้นที่ 7 เป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ (Application) จึงทำให้รูปแบบนี้มีคุณสมบัติครบตามหลัก CIPPA

ประโยชน์
1. ผู้เรียนรู้จักการแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริงจากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการเรียนรู้
2. ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการคิดที่หลากหลาย เป็นประสบการณ์ที่จะนำไปใช้ได้ในการดำเนินชีวิต
3. ผู้เรียนมีประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับสมาชิกภายในกลุ่ม

            ทัศนวรรณ รามณรงค์ (2554) ได้รวบรวมข้อมูลของวิธีสอนแบบ CIPPA Model ไว้ดังนี้
หลักการจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง : โมเดลซิปปา ( CIPPA Model ) 
หลักการจัดการเรียนการสอนโมเดลซิปปา เป็นหลักที่นำมาใช้จัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เสนอแนวคิดโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ทิศนา แขมมณี อาจารย์ประจำภาควิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีจุดเน้นที่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทั้งทางร่างกาย สติปัญญา สังคม และอารมณ์
หลักการจัดของโมเดลซิปปา มีองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่
C มาจากคำว่า Construct หมายถึง การสร้างความรู้  ตามแนวคิด การสรรค์สร้างความรู้ได้แก่ กิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสสร้างความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งทำให้ผู้เรียนเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อตนเองกิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสติปัญญา
I มาจากคำว่า Interaction หมายถึง การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว  ได้แก่ กิจกรรมที่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล เช่น ครู เพื่อน ผู้รู้ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เช่น แหล่งความรู้ และสื่อประเภทต่าง ๆ กิจกรรมนี้ ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสังคม
P มาจากคำว่า Physical Participation หมายถึง การมีส่วนร่วมทางกาย  ได้แก่ กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนมีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะต่าง ๆ
P มาจากคำว่า Process Learning หมายถึง การเรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ  ที่เป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ได้แก่ กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนทำเป็นขั้นตอนจนเกิดการเรียนรู้ ทั้งเนื้อหาและกระบวนการ กระบวนการที่นำมาจัดกิจกรรม เช่น กระบวนการคิด กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการกลุ่ม กระบวนการแสวงหาความรู้ เป็นต้น กิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสติปัญญา
A มาจากคำว่า Application หมายถึง การนำความรู้ที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ  ได้แก่ กิจกรรมที่ให้โอกาสผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน กิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ได้หลายอย่างแล้วแต่ลักษณะของกิจกรรม
ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักโมเดลซิปปา 
       โมเดลซิปปามีองค์ประกอบสำหรับการจัดการเรียนการสอนที่สำคัญ 5 ประการ ครูสามารถเลือกรูปแบบ วิธีสอน กิจกรรมใดก็ได้ที่สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามองค์ประกอบทั้ง 5 อีกทั้งการจัดกิจกรรมก็สามารถจัดลำดับองค์ประกอบใดก่อนหลังได้เช่นกัน และเพื่อให้ครูที่ต้องการนำหลักการของโมเดลซิปปาไปใช้ได้สะดวกขึ้น 

ขั้นตอนการสอนเป็น 7 ขั้น ดังนี้
1. ขั้นทบทวนความรู้เดิม  เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมของตน
กิจกรรมในขั้นนี้ ได้แก่ การสนทนาซักถามให้ผู้เรียนบอกสิ่งที่เคยเรียนรู้ การให้ผู้เรียนเล่าประสบการณ์เดิม หรือการให้ผู้เรียนแสดงโครงสร้างความรู้ ( Graphic Organizer ) เดิมของตน
2. ขั้นแสวงหาความรู้ใหม่  เพื่อให้ผู้เรียนหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ
3. ขั้นศึกษาทำความเข้าใจความรู้ใหม่  และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความหมายของข้อมูลหรือประสบการณ์ใหม่ สรุปความเข้าใจแล้วเชื่อมโยงกับความรู้เดิม
กิจกรรมในขั้นนี้ ได้แก่ การให้ผู้เรียนใช้กระบวนการต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น กระบวนการคิด กระบวนการกลุ่มหรือกระบวนการแก้ปัญหา สร้างความรู้ขึ้นมา
4. ขั้นแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม  เพื่ออาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ และขยายความรู้ความเข้าใจของตนให้กว้างขึ้น กิจกรรมนี้ ได้แก่ การให้ผู้เรียนแต่ละคนแบ่งปันความรู้ความเข้าใจให้ผู้อื่นรับรู้และให้กลุ่มช่วยกันตรวจสอบความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
5. ขั้นสรุปและจัดระเบียบความรู้  เพื่อให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่าย
กิจกรรมนี้ ได้แก่ การให้ผู้เรียนสรุปประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย มโนทัศน์หลักและมโนทัศน์ย่อย ของความรู้ทั้งหมด ทั้งความรู้เดิมและความรู้ใหม่แล้วนำมารวบรวมเรียบเรียงให้ได้ใจความสาระสำคัญครบถ้วน สะดวกแก่การจดจำ ครูอาจให้ผู้เรียนจัดเป็นโครงสร้างความรู้ ( Graphic Organizer ) ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยในการจดจำข้อมูลได้ง่าย
6. ขั้นแสดงผลงาน  เพื่อให้โอกาสผู้เรียนได้ตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของตนด้วยการได้รับข้อมูลย้อนกลับจากผู้อื่น
กิจกรรมนี้ ได้แก่ การให้ผู้เรียนแสดงผลงานการสร้างความรู้ของตนด้วยวิธีการ ต่าง ๆ เช่น จัดนิทรรศการ จัดการอภิปราย แสดงบทบาทสมมติ เขียนเรียงความ วาดภาพ แต่งคำประพันธ์ เป็นต้น และอาจมีการจัดประเมินผลงานโดยใช้เกณฑ์ที่เหมาะสม
7. ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้  เพื่อฝึกฝนให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจ และความชำนาญ
กิจกรรมนี้ ได้แก่ การที่ครูให้ผู้เรียนมีโอกาสแสดงวิธีใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเท่ากับส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ ในระยะแรกครูอาจตั้งโจทย์สถานการณ์ต่าง ๆ แล้วให้ผู้เรียนนำความรู้ที่มีมาใช้ในสถานการณ์นั้น

การสอนตามรูปแบบ CIPPA
รูปแบบการสอนแบบซิปปา หมายถึง กระบวนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความคิด และการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ สามารถสร้างความรู้ ค้นพบความรู้ได้ด้วยตนเอง นักเรียนมีบทบาทมากในกิจกรรมการเรียนการสอน และผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ได้
C (Construction) คือ ครูจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนมีโอกาสสร้างความรู้ด้วยตนเอง
I (Interaction) คือ ให้นักเรียนทำกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มี ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลและแหล่งความรู้ที่หลากหลาย
P (Physical Participation) คือ จัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวร่างกาย
P (Process Learning) คือ จัดกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ เช่น กระบวนการคิด กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการทำงานให้สำเร็จ
A (Application) คือ การจัดกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
ขั้นตอนการสอนตาม CIPPA mode l 
๑.ขั้นการทบทวนความรู้เดิม เป็นการสนทนาซักถามถึงกิจกรรมที่เคยเรียนรู้ หรือพื้นความรู้ของนักเรียนในเรื่องที่จะดำเนินการสอน 
๒.ขั้นการแสวงหาความรู้ใหม่ หมายถึง ให้นักเรียนได้รู้จักแหล่งที่จะค้นหาความรู้ เช่น แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด สื่อเอกสาร มุมประสบการณ์ต่าง ๆ หรือแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น เช่น ภูมิปัญญา สถานที่สำคัญในชุมชน เป็นต้น 
๓.ขั้นการศึกษาทำความเข้าใจข้อมูล/ความรู้ใหม่และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม เป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนได้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้ามาทำความเข้าใจแล้วใช้กระบวนการคิดในการประมวลข้อมูลที่รับเข้ามาใหม่กับข้อมูลเดิมทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ หรือสิ่งใหม่ 
๔.ขั้นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเมื่อได้เรียนรู้แล้ว นำองค์ความรู้นั้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสะท้อนความคิดของตน 
๕.ขั้นการสรุปและการจัดระเบียบความรู้ เพื่อให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนได้ง่าย เป็นกิจกรรมสรุปร่วมกัน โดยสังเคราะห์สิ่งที่ได้เรียนรู้ 
๖.ขั้นการแสดงผลงาน เป็นกิจกรรมเสนอสิ่งที่เรียนรู้ในรูปของการจัดกิจกรรม 
๗.ขั้นการประยุกต์ใช้ความรู้ นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือเพื่อแก้ปัญหาในสิ่งที่ต้องการคำตอบต่อไป

            คงเดช สมดี (2551) ได้กล่าวเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ไว้ว
วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 
        รูปแบบนี้มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่เรียนอย่างแท้จริงโดยการให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยอาศัยความร่วมมือจากกลุ่ม นอกจากนั้นยังช่วยพัฒนาทักษะกระบวนการต่างๆ จำนวนมาก อาทิ กระบวนการคิด กระบวนการกลุ่ม กระการปฏิสัมพันธ์สังคม และกระบวนการแสวงหาความรู้ เป็นต้น 

 กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ 
         ซิปปา ( CIPPA ) เป็นการหลักซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหลักในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ให้แก่ผู้เรียน การจัดกระบวนการเรียนการสอนตามหลัก “CIPPA” นี้สามารถใช้วิธีการและกระบวนการที่หลากหลาย ซึ่งอาจจัดเป็นแบบแผนได้หลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้และได้มีการนำไปทดลองใช้แล้วได้ผลดี ประกอบด้วยขั้นตอนการดำเนินการ 7 ขั้นตอนดังนี้ 
 ขั้นที่ 1 การทบทวนความรู้เดิม 
        ขั้นนี้เป็นการดึงความรู้เดิมของผู้เรียนในเรื่องที่จะเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมของตน ซึ่งผู้สอนอาจใช้วิธีการต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย 

ขั้นที่ 2 การแสวงหาความรู้ใหม่ 
        ขั้นนี้เป็นการแสวงหาข้อมูลความรู้ใหม่ของผู้เรียนจากแหล่งข้อมูลหรือแหล่งความรู้ต่างๆ ซึ่งครูอาจจัดเตรียมมาให้ผู้เรียนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนไปแสวงหาก็ได้ 

ขั้นที่ 3 การศึกษาทำความเข้าใจข้อมูล/ความรู้ใหม่ และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความเดิม 
        ขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อมูล/ความรู้ที่หามาได้ ผู้เรียนจะต้องสร้างความหมายของข้อมูล/ประสบการณ์ใหม่ๆ โดยใช้กระบวนการต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น ใช้กระบวนการคิด และกระบวนการกลุ่มในการอภิปรายและสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลนั้นๆ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยงกับความรู้เดิม 

ขั้นที่ 4 การแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม 
        ขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนอาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของตน รวมทั้งขยายความรู้ความเข้าใจของตนเองให้กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้แบ่งปันความรู้ความเข้าใจของตนแก่ผู้อื่น และได้รับประโยชน์จากความรู้ ความเข้าใจของผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน 

ขั้นที่ 5 การสรุปและจัดระเบียบความรู้ 
        ขั้นนี้เป็นขั้นของการสรุปความรู้ที่ได้รับทั้งหมด ทั้งความรู้เดิมและความรู้ใหม่ และสิ่งที่เรียนให้เป็นระบบระเบียบเพื่อช่วยให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่าย 

ขั้นที่ 6 การปฏิบัติ และ/หรือการแสดงผลงาน 
         หากข้อความรู้ที่ได้เรียนรู้มาไม่มีการปฏิบัติ ขั้นนั้นจะเป็นขั้นที่ช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงผลงานการสร้างความรู้ของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้ เป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้ตอกย้ำหรือตรวจสอบความเข้าใจของตนเองและช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้ความคิดสร้างสรรค์แต่หากต้องมีการปฏิบัติตามข้อความรู้ที่ได้ ขั้นนี้จะเป็นขั้นปฏิบัติ และมีการแสดงผลงานที่ได้ปฏิบัติด้วย 

ขั้นที่ 7 การประยุกต์ใช้ความรู้ 
         ขั้นนี้เป็นขั้นของการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการนำความรู้ความเข้าใจของตนไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มความชำนาญ ความเข้าใจ ความสามารถในการแก้ปัญหาและความจำในเรื่องนั้นๆ 
         หลังจากการประยุกต์ใช้ในความรู้ อาจจะมีการนำเสนอผลงานจากการประยุกต์อีกครั้งก็ได้ หรืออาจไม่มีการนำเสนอผลงานในขั้นที่ 6 แต่นำมารวมแสดงในขั้นตอนท้ายหลังขั้นการประยุกต์ใช้ก็ได้เช่นกัน 
        ขั้นตอนตั้งแต่ขั้นที่ 1-6 เป็นกระบวนการของการสร้างความรู้ ( construc-tion of knowledge ) ซึ่งครูสามารถจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนมีโอกาสปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ( interaction ) และฝึกฝนทักษะกระบวนการต่างๆ ( process learning ) อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากขั้นตอนแต่ละขั้นตอนช่วยให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมหลากหลายที่มีลักษณะให้ผู้เรียนได้มีการเคลื่อนไหวทางกาย ทางสติปัญญา ทางอารมณ์ และทางสังคม อย่างเหมาะสม 6 ทีคุณสมบัติตามหลักการ CIPP ส่วนขั้นตอนที่ 7 เป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ ( application ) จึงทำให้เป็นรูปแบบนี้มีคุณสมบัติครบตามหลัก CIPPA

ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบ 
          ผู้เรียนจะเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เรียน สามารถอธิบาย ชี้แจง ตอบคำถามได้ดี นอกจากนั้นยังได้พัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นกลุ่ม การสื่อสาร รวมทั้งเกิดความใฝ่รู้ด้วย เช่น การสอนด้วยคอมพิวเตอร์ CAI เป็นการสอนแบบเน้นการช่วยเหลือตนเอง จะเรียนเมื่อไหร่ก็ได้เอาแผ่น CAI มาเปิดดูทางคอมได้ทุกเวลา

              สรุปการสอนโดยใช้รูปแบบ CIPPA Model ได้ดังนี้
              รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนแบบซิปปา จัดเป็นการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างเหมาะสม ได้แก่ การให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง     การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และสังคม การให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการ และมีผลงานจากการเรียนรู้ การให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ ใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนรู้ตามรูปแบบซิปปา  กล่าวคือ ผู้เรียนจะเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เรียน สามารถอธิบาย ชี้แจง ตอบคำถามได้ดี  นอกจากนั้นยังได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นกลุ่ม  รวมทั้งเกิดความใฝ่รู้อีกด้วย

            ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่ใช้รูปแบบ CIPPA Model

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 7 โดยใช้รูปแบบซิปปา
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์                      ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6   
หน่วยการเรียนรู้ที่ 6:  เศษส่วน                              จำนวน 17 ชั่วโมง
สาระการเรียนรู้ย่อย โจทย์ปัญหาการบวกและการลบเศษส่วน เวลา  1 ชั่วโมง

3.  สาระสำคัญ
การแก้โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับการบวกและการลบเศษส่วน มีลำดับขั้นตอน คือ 1) ทำความเข้าใจปัญหา โดยพิจารณาสิ่งที่โจทย์ถาม และสิ่งที่โจทย์บอก 2) วางแผน 3) ดำเนินตามแผน และ 4) ตรวจสอบ

4. จุดประสงค์การเรียนรู้
หลังจากเรียนเรื่องนี้แล้ว นักเรียนมีความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ดังนี้
ด้านความรู้
1. สามารถสรุปการแก้โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับการบวกและการลบเศษส่วน ได้
2. ทำใบงานที่ 7 ได้ถูกต้อง อย่างน้อย 80%
ด้านทักษะกระบวนการ
1. มีกระบวนการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการบวกและการลบเศษส่วน ได้
2. มีการเชื่อมโยงแนวคิดทางคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันมาใช้แก้ปัญหา
ด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์
1. มีความรอบคอบในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการบวกและการลบเศษส่วน
2. มีเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์

5.  สาระการเรียนรู้
การแก้โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับการบวกและการลบเศษส่วน เมื่อเริ่มต้นแก้โจทย์ปัญหาควรฝึกทำความเข้าใจปัญหา วิเคราะห์เงื่อนไขและสิ่งที่โจทย์ต้องการ ฝึกวางแผนและดำเนินการตามแผน รวมทั้งต้องฝึกตรวจสอบวิธีการและคำตอบที่ได้ ตามลำดับขั้นตอน ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาสำเร็จไปได้

6.  กระบวนการจัดการเรียนรู้
ขั้นการทบทวนความรู้เดิม
       1.  ครูทบทวนการบวกและการลบเศษส่วนที่นักเรียนเคยเรียนมาพร้อมสนทนาถึงเรื่องโจทย์ปัญหาเกี่ยวกับการบวกและการลบเศษส่วน
       2.  ครูแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ให้นักเรียนทราบ พร้อมทั้งบอกขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ และทบทวนบทบาทของนักเรียนในการทำงานเดี่ยวและทำงานกลุ่ม 
       3.  ครูให้นักเรียนดูแผ่นภาพนิทานสอนใจ เรื่อง แม่ไก่กับแมว แล้วให้นักเรียนอาสาสมัครสรุปความรู้ที่ได้จากการดูแผ่นภาพนิทาน
ขั้นแสวงหาความรู้ใหม่และทำความเข้าใจข้อมูล เชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม
       1. แจกใบกิจกรรมที่ 7.1 เรื่อง การแก้โจทย์ปัญหาการบวกและการลบเศษส่วน ให้นักเรียนทุกคน ให้นักเรียนอ่านสถานการณ์ปัญหาและทำความเข้าใจปัญหา โดยครูนำนักเรียนอภิปรายตามประเด็นต่อไปนี้
- สถานการณ์ปัญหากล่าวถึงอะไร (การแก้โจทย์ปัญหาการบวกและการลบเศษส่วน)
- สถานการณ์ปัญหาต้องการทราบอะไร (วิธีการแก้โจทย์ปัญหาการบวกและการลบเศษส่วน)
- สถานการณ์ปัญหากำหนดอะไรบ้าง (ผักได้     กิโลกรัม ขายข้าวได้     กิโลกรัม)
- นักเรียนจะแก้ปัญหาอย่างไร (ใช้หลักการบวกเศษส่วน)
ขั้นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม
       1. ให้นักเรียนรวมกลุ่ม กลุ่มละ 5 คน
       2.  ให้นักเรียนทำกิจกรรมที่ 7.2 เรื่องใช้หลักการใดในการแก้โจทย์ปัญหาการบวกและการลบเศษส่วน (กิจกรรมกลุ่ม) โดยอภิปรายในกลุ่มเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในประเด็นต่อไปนี้ 
ขั้นการสรุปและการจัดระเบียบความรู้
ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายเพื่อสรุปเกี่ยวกับหลักการแก้โจทย์ปัญหาการบวกและการลบ เศษส่วน ดังนี้
การแก้โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับการบวกและการลบเศษส่วน เมื่อเริ่มต้นแก้โจทย์ปัญหาควรฝึกทำความเข้าใจปัญหา วิเคราะห์เงื่อนไขและสิ่งที่โจทย์ต้องการ ฝึกวางแผนและดำเนินการตามแผน รวมทั้งต้องฝึกตรวจสอบวิธีการและคำตอบที่ได้ ตามลำดับขั้นตอน ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาสำเร็จไปได้
ขั้นแสดงผลงาน
       ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานเกี่ยวกับวิธีการแก้โจทย์ปัญหาบวกและการลบเศษส่วน และหลักการแก้โจทย์ปัญหาการบวกและการลบเศษส่วน ครูนำอภิปรายในประเด็นต่อไปนี้
1. การแก้โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับการบวกและการลบเศษส่วนของกลุ่ม ใช้วิธีใด
2. นักเรียนมีหลักการการแก้โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับการบวกและการลบเศษส่วน อย่างไร
ขั้นการประยุกต์ใช้ความรู้
       ให้นักเรียนแต่ละคนทำใบงานที่ 7 เรื่องโจทย์ปัญหาการบวกและการลบเศษส่วน ส่งตัวแทนเฉลยคำตอบในกระดานดำ กล่าวคำชมเชยกลุ่มที่ทำได้ถูกต้อง เสนอแนะ แก้ไข กลุ่มที่ยังบกพร่อง

สามารถเข้าชมเพิ่มเติมได้ที่ http://www.vcharkarn.com/journal/view/1474 ขออนุญาติผู้เขียน


ที่มา
ครู Eduzone. (2560). https://blog.eduzones.com/lovekru/183977. [Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2561.
ทัศนวรรณ รามณรงค์. (2554). https://www.gotoknow.org/posts/547887[Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2561.
คงเดช สมดี. (2551). https://www.gotoknow.org/posts/212393%20[9[Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2561.

           

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้